เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย ฟันธงไปเลย ฉับๆๆ

โดยปกติ เมื่อเราทำข้อสอบ IELTS ในส่วนของ Writing นั้น เรามักจะได้รับการสั่งสอนสืบทอดกันมาว่า ‘ให้ทำในส่วนที่ 2 ก่อนนะ” อยู่เป็นประจำ ที่ว่าให้ทำในส่วนที่ 2 ก่อนนั้น ก็เนื่องมาจาก ข้อสอบในส่วนนี้จะเป็นการถามในเชิง “แสดงความเห็น” กล่าวคือ ทางโจทย์จะให้คำถามเปิดแบบกว้างๆมา ซึ่งเราไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้เฉพาะทางในการตอบ แต่จะเป็นความรู้ทั่วไป ที่ใช้ในการสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นของเรา

ตัวอย่างของคำถามประเภทนี้ก็เช่น Do you think smoking should be banned in public areas? คุณคิดว่าการสูบบุหรี่ ควรจะถูกห้ามในพื้นที่สาธารณะหรือไม่ ถ้าเราเห็นด้วยก็จะต้องบอกเหตุผลเช่น เพราะการสูบบุหรี่ทำให้คนรอบข้างเป็นมะเร็งไปด้วย หรือ ถ้าไม่เห็นด้วยก็อาจจะบอกว่า มันเป็นการริดรอนสิทธิส่วนบุคคลเป็นต้น

จากประสบการณ์ของผู้เขียน จุดที่ยากที่สุดในการทำข้อสอบในส่วนนี้ก็คือ การหาเหตุผลมาสนับสนุนความเห็นของผู้สอบ เพราะนักเรียนไทยส่วนใหญ่มักจะถูกกระบวนการเรียนรู้สั่งสมมาให้เป็น “ผู้รับข้อมูล” มากกว่าที่จะเป็น “ผู้ที่แสดงความคิดเห็น” ครับ นอกจากนี้วิธีการนำเสนอข้อมูลที่เราจะสนับสนุนหรือขัดแย้งอย่างเป็นขั้นเป็นตอนหรือที่เค้าเรียกว่า Academic Writing นั้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ข้อสอบชุดนี้ยากครับ

มาถึงตรงนี้ คงไม่ต้องสงสัยกันเลยใช่มั้ยครับว่า ทำไมคะแนนในส่วน Writing section ที่ 2 นี้ จึงมีการให้น้ำหนักคะแนนมากกว่าในส่วนแรกที่ไม่ได้มีการวิเคราะห์ ออกความเห็น เพราะเพียงแต่เขียนบรรยายภาพตามเท่านั้น

เคล็ดลับในการทำข้อสอบส่วนนี้ให้ได้คะแนนดีนั้น ไม่ใช่อยู่ที่การเขียนภาษาอังกฤษถูกหลักไวยกรณ์เท่านั้นครับ แต่ทั้งนี้ผู้สอบจะต้องนำเสนอความคิดเห็นอย่างมีหลักการด้วย กล่าวคือ เมื่อผู้ตรวจข้อสอบอ่านเนื้อหาแล้วนั้น ผู้ตรวจจะต้องทราบทันทีครับว่า ผู้สอบต้องการจะสื่ออะไร หรือ มีความคิดเห็นอย่างไร กับโจทย์ที่ให้มา “เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย” กับโจทย์

ซึ่งคำว่าเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยนี่แหละครับที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญมากๆ เนื่องจากผู้สอบหลายๆคน เขียนตรงนี้ “ไม่ Clear” ครับ กล่าวคือจะสนับสนุนข้อคิดเห็นของโจทย์ก็ไม่เชิงซะทีเดียว แต่อีกนัยหนึ่ง จะคัดค้านก็ไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ตรวจเกิดความสับสน และไม่แน่ใจว่า งานเขียนชิ้นนี้นั้น ผู้สอบต้องการสื่ออะไรกันแน่ ส่งผลให้คะแนน Writing ออกมาน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ

บ่อยครั้งครับที่ผู้เขียนจะได้ยินน้องๆที่เข้าสอบ IELTS บ่นกันว่า “เขียนไปก็ดีนะ ทำไมได้คะแนนน้อยจัง” หรือ “เราว่าGrammar เราถูกชัวร์ๆ แต่ทำไมคะแนนไม่ขึ้น” ไม่ต้องแปลกใจครับ คำตอบทั้งหมดน่าจะมาจาก “ความไม่ชัดเจนในคำตอบ” นั่นเอง (หรืออีกประเด็นหนึ่งอาจจะมาจาก สไตร์การเขียนที่ไม่เป็น academic ก็ได้นะครับ ซึ่งจะกล่าวในบทต่อๆไป) ดังนั้นผู้สอบจะต้องพึงระลึกเอาไว้นะครับว่า เราควรจะฟันธงไปเลยดีกว่าครับว่า “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” จากนั้น เราค่อยหาเหตุผลมาสนับสนุนแนวความคิดของเราครับ

อย่าลืมนะครับว่า คำถามประเถทนี้ไม่มีถูกไม่มีผิดครับ เพราะมันเป็นการแสดงความเห็น ไม่มีใครสามารถมาตัดสินความคิดเราได้ว่าผิด….ถ้าเราให้ข้อความสนับสนุนความคิดเห็น “ที่ดีพอ”……

ตอนหน้าเราจะมาฝึกวางแผนการเขียนอย่างเป็นระบบกันนะครับ