คำถามเจ้าประจำ

ฉบับนี้เรายังไม่ไปไหนครับ ยังคงเกาะติดอยู่ที่ section Reading โดยเราจะมากล่าวถึงคำถามเดิมๆ หรือ คำถามเจ้าประจำที่มักจะเจออยู่บ่อยๆ (ที่ไม่ใช่แค่ในข้อสอบ IELTS) กันครับ

คำถามแรก ที่ถ้าจะวัดกันเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็คงนำโด่งมาด้วยคะแนนท่วมท้น นั่นก็คือ “คำถามที่ถามหาใจความสำคัญ” ครับคำถามประเภทนี้มักจะใช้คำง่ายๆ เป็น Pattern คล้ายๆกันครับว่า “What is the main idea/main purpose of this paragraph/statement/story etc.  แต่…ด้วยคำถามธรรมดาๆ นี่แหละครับ พวกเราพอจะทราบกันรึ เปล่าว่า “ใจความสำคัญ” คืออะไร? ใจความสำคัญก็คือ สิ่งที่เป็นจุดประสงค์หลักของผู้เขียนในเนื้อเรื่องหรือในย่อหน้านั้นๆ โดยส่วนมากแล้วก็มักจะอยู่ในประโยคแรกหรือประโยคสุดท้ายของย่อหน้าครับ เพราะตามหลักการเขียนหนังสือที่ดีแล้วนั้น ผู้เขียนควรจะเริ่มบอกผู้อ่านถึงจุดประสงค์ของการเขียนตั้งแต่ต้นๆ ของประโยคหรือสรุปใจความสำคัญของเนื้อเรื่องไว้ที่ท้ายประโยคนั่นเอง

คำถามประเภทที่สอง จะเป็นคำถามที่จะต้องใช้การคิดวิเคราะห์มากกว่าคำถามแรกนิดนึง เนื่องจากจะเป็นอะไรที่ลงในรายละเอียดของเนื้อหาครับนั่นก็คือคำถามที่ถามเกี่ยวกับสนับสนุนความคิดเห็นหลักหรือ Supporting Idea นั่นเองครับ คำถามประเภทนี้อาจจะเจออยู่ประมาณ 2 แบบครับ นั่นคือ  Which of the following choice is the supporting idea of this statement? ถามตรงๆไปเลยครับ ว่าอันไหนคือข้อความสนับสนุน หรือThe idea which is not mentioned in the passage is? ถามในลักษณะที่ว่า เนื้อหาอะไรที่ไม่ได้พูดถึงในเรื่อง ซึ่งเราก็ต้องวิเคราะห์สิ่งที่เนื้อเรื่องไม่ได้กล่าวอ้างถึงครับ

คำถามประเภทที่สาม จะซับซ้อนกว่าแบบที่สองอีกแล้วครับ (คือมันจะซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ…ว่างั้น? ) คือจะถามเกี่ยวกับอะไรที่ไม่ได้บอกออกมาตรงๆ เหมือนกับ การหาใจความสำคัญ หรือ ข้อความสนับสนุน

แต่!!…จะเป็นการถามแนวประยุกต์ว่า เนื้อเรื่องนี้มันสามารถบอก หรือ ผู้เขียนอยากจะบอก เป็นนัยๆ ว่าอะไร

ซึ่งตรงนี้แหละครับ ที่ผู้สอบจะไม่ใช่แค่อ่านเนื้อหารู้เรื่องนะคับ แต่จะต้องมีการวิเคราะห์ด้วยนะครับว่า ผู้เขียนต้องการที่จะสื่ออะไรกับเราบ้าง ตัวอย่างคำถามเช่น It can be implied that มันสามารถบอกเป็นนัยๆ ได้ว่า หรือ The Writer inferred that คนเขียนลงความเห็นว่า เป็นต้นครับ

สุดท้าย แต่อาจจะไม่ท้ายสุด ก็คือคำถามที่ถามเกี่ยวกับทัศนคติของผู้เขียน ซึ่งอันนี้ โดยส่วนตัวแล้วนั้น ผมว่า มันค่อนข้างที่จะยากที่สุด เพราะอะไรนะเหรอครับ?

ก็เพราะต่างคน ต่างใจ และต่างความคิด ขนาดบางคนยังไม่ค่อยจะแน่ใจในความคิด ความรู้สึกของตัวเองเลยครับ แล้วนี่นับประสาอะไร กับการที่จะให้เรา ซึ่งไม่ได้แม้แต่จะรู้จักมักจี่กะอีตาคนเขียนนี่ซะหน่อย เดาทัศนคติหรือความรู้สึกของเค้าได้ยังไงละครับ จริงมั้ย!!!??

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อย่าเพิ่งท้อแท้ครับ ว่าถ้างั้นมาเจอคำถามแบบนี้ก็เลิกทำมันซะเลยดีกว่า เพราะจริงๆแล้วนั้น ถึงแม้ข้อสอบจะออกคำถามแบบนี้มา มันก็จะไม่ยากเกินไปที่จะหาคำตอบหรอกครับ เพราะความชอบไม่ชอบ หรือความรู้สึกที่ทางข้อสอบถามส่วนใหญ่แล้ว ถ้าข้อสอบไม่เคี่ยวจนเกินไปนัก มันจะค่อนข้างเห็นอย่างชัดเจนอยู่เหมือนกันครับ

ตัวอย่างคำถามประเภทนี้ก็ เช่น The author feels that….ผู้แต่งรู้สึกว่า……หรือWhich of the following choice can describe the writer’s emotion ตัวเลือกไหนที่สามารถบรรยายอารมณ์ของผู้เขียนได้ดีที่สุด?

เป็นอย่างไรบ้างครับ สำหรับคำถามเจ้าประจำทั้ง 4 ประเภท ผมคิดว่าผู้อ่านทุกท่านคงเคยเจอมาบ้างแล้ว อย่างน้อยไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่งนะครับ

ตอนหน้าเราจะข้าม Section ไปที่ Writing แล้วนะครับ